วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ หรือน้ำมันเทียนดำ คืออะไร?

น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ (Black Seed Oil) เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากเมล็ดฮับบาตุซเซาดะฮ์  คำว่า “ฮับบาตุซเซาดะฮ์” ความจริงแล้วเป็นชื่อเรียกในภาษาอาหรับ  ดังนั้น ชาวไทยมุสลิมจึงนิยมเรียกสมุนไพรตัวนี้ทับศัพท์ตามภาษาอาหรับนั่นเอง 
ฮับบาตุซเซาดะฮ์ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Nigella sativa
ส่วนชื่อสามัญที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในภาษาอังกฤษ คือ Black Seed หรือ Black Cumin
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกตามภูมิภาคหรือท้องถิ่น  เช่น อินเดีย ปากีสถาน  : “Kalonji” อินโดนีเซีย  : “Jintan Hitam”
ประเทศไทย เรียกฮับบาตุซเซาดะฮ์ ว่า ยี่หร่าดำ หรือ เทียนดำ
ตามตำราแพทย์แผนไทย หรือเภสัชกรรมไทย ได้อธิบายถึงคุณลักษณะภายนอกของของเทียนดำ (ฮับบาตุซเซาดะฮ์) เครื่องยาตัวนี้ไว้ดังนี้ : มีเมล็ดรูปสามเหลี่ยมถึงห้าเหลี่ยม ผิวภายนอกสีดำ เนื้อในสีขาว  เมล็ดที่แก่แห้งจะมีสีดำสนิท  มีกลิ่นเล็กน้อย หากใช้มือถูที่เมล็ดหรือนำเมล็ดไปบด จะได้กลิ่นหอมฉุน  และมีรสชาติขม เผ็ด ร้อน คล้ายเครื่องเทศ

สรรพคุณของเทียนดำ (ฮับบาตุซเซาดะฮ์)
ตำรายาไทย : ขับเสมหะให้ลงสู่คูทวาร ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ท้องอืด เฟ้อ แก้อาเจียน บำรุงโลหิต  ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ ขับระดู บีบมดลูก แก้โรคลม ขับพยาธิ
ตำรายาไทยแผนโบราณ : มีการใช้เมล็ดเทียนดำ ใน “พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)คือ การจำกัดตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ได้แก่ เหง้าขิงสด, ผลผักชีลา และเทียนดำ โดยใช้อย่างละเท่า ๆ กัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ
นอกจากนี้ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม  ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ปรากฏว่า มีการใช้เมล็ดเทียนดำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวม 5 ตำรับ ดังนี้
1.      ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับยาหอมเทพจิตรและตำรับ ยาหอมนวโกฐมีส่วนประกอบของเทียนดำ อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
2.      ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ ยาธาตุบรรจบมีส่วนประกอบของเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ ยาประสะกานพลูมีส่วนประกอบของเทียนดำ และเทียนขาว ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
3.      ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ ยาประสะไพลมีส่วนประกอบของเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า พิกัดเทียน  โดยเทียนดำถูกนำมาจัดอยู่ใน พิกัดเทียนทั้ง 5ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน
พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา)
พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา)
สรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
รูปแบบและวิธีการใช้เทียนดำตามตำรับยาไทย : มักจะใช้เป็นยาผง หรือสามารถใช้เมล็ด 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่มเป็นชา
องค์ประกอบทางเคมีของเทียนดำ :
           น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) เช่น linoleic acid, oleic acid, palmitic acid ประมาณ 30%
           น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ประมาณ 0.5-1.5% โดยมีองค์ประกอบหลักของน้ำมันระเหยง่ายเป็นอนุพันธ์ของควิโนน คือ thymoquinone คิดเป็น 54% ของน้ำมันระเหยง่ายที่พบทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบ p-cymene, dithymoquinone, thymohydroquinone, thymol, trans-anethole,  limonene, carvone, carvacrol, 4-terpineol
           สารอัลคาลอยด์ เช่น nigellidine, nigellimine, nigellicine   
           สารซาโปนิน  เช่น  alpha-hederin
**เจ้าองค์ประกอบทางเคมีเหล่านี้แหละ ที่ให้สรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคมากมาย ซึ่งมีผลงานวิจัยยืนยันมากมายหลายร้อยผลงาน และหลากหลายประเทศ ใครที่ติดตามอ่านบทความในเว็บบล็อกแห่งนี้คงทราบเป็นอย่างดีถึงสรรพคุณอันน่ามหัศจรรย์ของน้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ J
การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า มีการใช้น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ หรือน้ำมันเทียนดำ เพื่อรักษาโรคในกลุ่มอาการในระบบทางดินหายใจ, ระบบหัวใจและหลอดเลือด, ระบบทางเดินอาหาร  นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ, ฆ่าพยาธิ, ต้านเชื้อไวรัส, ต้านการอักเสบ, ต้านมะเร็ง, ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (ต้านอนุมูลอิสระ), ออกฤทธิ์ปกป้องตับ และไต, ยับยั้งอาการปวด, ยับยั้งการอักเสบ, ยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคจากอาหารเป็นพิษ และแผลติดเชื้อ
[ ขอขอบคุณข้อมูลเรื่อง “เทียนดำ” จาก Thaicrudedrug.com ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ]

ข้อสังเกต :
1-      ฮับบาตุซเซาดะฮ์ ถ้ารับประทานเป็นยาไทยที่ปรุงเป็นตำรับต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคในกลุ่มอาการต่าง ๆ นั้น เรามักจะกินแก้อาการเหล่านั้น เฉพาะเวลาที่เกิดอาการ และตามขนาดที่เภสัชกรไทยได้กำหนดไว้ ไม่ได้นำมากินต่อเนื่องเป็นประจำ เนื่องจากในตำรับยาไทย จะไม่ใช้สมุนไพรตัวเดียวเดี่ยวเพื่อบำบัดรักษาโรค แต่จะใช้สมุนไพรหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต่างกัน และช่วยเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันในการรักษากลุ่มอาการที่ต้องการ  ดังนั้น จึงไม่สามารถรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน
2-      การรับประทานเมล็ดฮับบาตุซเซาดะฮ์ หรือเทียนดำ เป็นอาหารอาจแยกได้ 2 กรณี คือ
(1)    ใช้ใส่เป็นเครื่องปรุงรส เช่นเดียวกับเครื่องเทศสมุนไพรทั่วไป เช่นเครื่องแกงต่าง ๆ ที่เป็นอาหารในแถบตะวันออกกลาง หรือใส่ขนมหวาน ขนมปัง เพื่อตัดความเลี่ยนและความหวานของขนม  ในกรณีนี้เราสามารถรับประทานได้บ่อยครั้ง เนื่องจากปริมาณที่ใส่อาหารแต่ละชนิดนั้น เล็กน้อยมาก จนไม่อาจทำให้เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงใด ๆ

(2)    “น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ / น้ำมันเทียนดำ” รับประทานในรูปและการทานวิตามินของอาหารเสริมสุขภาพ ปริมาณที่ผู้ผลิตแต่ละรายกำหนดให้ทานนั้น คือ ครั้งละ 1 ช้อนชา หรือช้อนโต๊ะ หรือหากบรรจุแคปซูล 500 มก. ครั้งละ 2-3 แคปซูล ถือว่าเป็นปริมาณที่น้อย ไม่ส่งผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ (ยกเว้น : ผู้ที่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ไม่ควรทานเพราะจะบีบมดลูก อาจทำให้แท้งได้  แต่ทว่าหญิงท้องแก่ใกล้คลอด หากรับประทานจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น)  อย่างไรก็ดี ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสุขภาพและโรคประจำตัวของแต่ละคน และวัยแต่แตกต่างกัน เช่น ในเด็กเล็ก ๆ หรือคนชรา หรือผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการหนัก จึงเริ่มในปริมาณที่เล็กน้อยถึงระดับปานกลางก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดรับประทานจนรู้สึกว่า เป็นขนาดที่เหมาะสมกับร่างกายและโรคของตนเอง รู้สึกสดชื่นแข็งแรงและสบายตัวค่ะ