น้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน (Overweight and obesity)
องค์การอนามัยโลก ให้นิยามว่า น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป เรียกว่า น้ำหนักตัวเกิน และหากมีค่าดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า เป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ดี สำหรับคนเอเชียมีรูปร่างเล็กกว่า จึงกำหนดให้น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน มีค่าดัชนีมวลกาย ตั้งแต่ 23 และ 25 ขึ้นไป ตามลำดับ
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฮับบาตุซเซาดะฮ์
ในประเทศอินโดนีเซีย มีการศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยทำการทดลองแบบ double blinded ในผู้ป่วยที่ถูกนำมาควบคุม ด้วยการให้ยาหลอก โดยคัดเลือกจากผู้ป่วยชาย ที่เป็นผู้ใหญ่และมีโรคอ้วน (อ้วนลงพุง) เพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพของฮับบาตุซเซาดะฮ์ (Nigella sativa) ในศูนย์กลางของความเป็นอิสระของเซรั่มฮอร์โมนเพศชาย, น้ำหนักตัว, เส้นรอบเอว, น้ำตาลในเลือด, ไขมัน, กรดยูริค , adiponectin (โปรตีนที่มีส่วนในการควบคุมกลูโคส), hs-CRP (ความไวของโปรตีนที่ตอบสนองในเลือดต่อการอักเสบ), และผลข้างเคียง[1] โดยให้การรักษาด้วยการให้ผงของเมล็ดฮับบาตุซเซาดะฮ์ ในปริมาณ 1.5 กรัม (สองแคปซูล) รับวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้ปรากฏว่า มีค่านัยสำคัญที่สูงมาก ในการลดลงของน้ำหนักตัว, เส้นรอบเอว, และความดันโลหิตตัวบน อย่างไรก็ดี การลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดในขณะอดอาหาร, ฮอร์โมนเพศชาย, ความดันโลหิต (ค่าตัวล่างที่วัดได้), ไตรกลีเซอไรด์, และคอเลสเตอรอล-HDL, SGOT, SGPT, กรดยูริค และ hs-CRP ไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเพราะการได้รับฮับบาตุซเซาดะฮ์ในปริมาณโดสที่มีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น และพบว่าไม่มีผลข้างเคียงในกลุ่มที่ให้การรักษา[2]
ฮับบาตุซเซาดะฮ์ (เทียนดำ) กับการรักษาโรคอ้วน
โรคอ้วน (Obesity) มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ในการแก้ปัญหาโรคอ้วนนอกจากการควบคุมและลดน้ำหนักแล้ว ก็ควรคำนึงถึงโรครองเหล่านี้ด้วยเช่นกัน การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ฮับบาตุซเซาดะฮ์ (เทียนดำ) มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคหัวใจ, ต้านมะเร็ง, ป้องกันโรคเบาหวาน, มีสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัญหาเรื่องโรคอ้วนและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคตควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของฮับบาตุซเซาดะฮ์ในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ [3]
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า “โรคอ้วน” เป็นปัญหาสุขภาพที่แพร่หลายมากที่สุด ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มอายุ และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน ชนิดที่ 2, และโรคหลอดเลือดสมอง นักวิจัยได้ทบทวนบทคัดย่อในผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน, ยาสมุนไพร และยาแผนโบราณ จำนวน 33 บท แล้วพบว่า ฮับบาตุซเซาดะฮ์ (เทียนดำ), ชาเขียว และชาแดง (Chinese Black Tea) มีผลในการป้องกันโรคอ้วน (anti-obesity)[4]
การศึกษาโดยนักวิจัยชาวอิหร่าน ได้ทำการตรวจสอบประสิทธิผลในระยะยาวของการใช้ฮับบาตุซเซาดะฮ์ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่มีต่อระดับไขมันในเลือดและความสามารถในการใช้ออกซิเจน ของผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินคงที่ ด้วยการทดลองกับกลุ่มควบคุม แบบ double-blind โดยการสุ่มผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินคงที่ จำนวน 20 คน แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม แล้วให้ฮับบาตุซเซาดะฮ์เป็นยาเสริม กับอีกกลุ่มให้ยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยให้ทั้งสองกลุ่มมีส่วนร่วมในออกกำลังกายแบบแอโรบิก จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยทั้งก่อนและหลังการทดลอง 8 สัปดาห์ ได้ทำการวัดค่าไขมันในเลือด และ VO2 max (วี-โอ-ทู-แมกซ์ คือ การทดสอบสมรรถนะร่างกายแบบหนึ่ง เพื่อวัดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ออกซิเจนของร่างกาย ว่ามีความสามารถที่จะดึงออกซิเจนจากอากาศมาผสมกับเลือด เพื่อส่งไปยังกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้สูงสุดแค่ไหน)
ผลการทดลองปรากฏว่า กลุ่มผู้หญิงที่ได้รับยาหลอกและออกกำลังกายแบบแอโรบิก มีการลดลงของคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอล-LDL และมีการเพิ่มขึ้นของค่า VO2 Max ส่วนกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ฮับบาตุซเซาดะฮ์เป็นยาเสริมและมีการออกกำลังกายแบบแอโรบิก มีการลดลงของคอเลสเตอรอลรวม, ไตรกลีเซอไรด์, LDL (ไขมันไม่ดี) และดัชนีมวลกาย (อัตราส่วนของไขมันกล้ามเนื้อ) กล่าวคือ มีการสูญเสียไขมันในร่างกายและมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
สรุปได้ว่า การใช้ฮับบาตุซเซาดะฮ์เป็นยาเสริม ช่วยเพิ่ม HDL (ไขมันชนิดดี) และ VO2 Max นักวิจัยจึงสรุปว่า การใช้ฮับบาตุซเซาดะฮ์เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีผลช่วยเสริมฤทธิ์กันและกัน ดังนั้น การบริโภคฮับบาตุซเซาดะฮ์ (เทียนดำ) และร่วมกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก จึงเป็นวิธีที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด[5]
เรามีวิธีการใช้น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ (Black Seed Oil) เพื่อลดน้ำหนัก อย่างไรบ้าง??
ฮับบาตุซเซาดะฮ์ นอกจากจะช่วยรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพแล้ว ยังช่วยรักษาโรคอ้วน หรือลดน้ำหนักได้อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากมันช่วยให้ร่างกายสามารถควบคุมระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือด ช่วยเร่งอัตราการเผาผลาญ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มีเว็บไซด์หลายแห่งได้แนะนำให้ใช้น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ (Black Seed Oil) ร่วมกับน้ำผึ้ง และผงซินนามอน (cinnamon) เนื่องจากซินนามอน หรืออบเชย ก็มีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน และ “น้ำผึ้ง” ในทางอายุรเวท คือ ตัวแครีเออร์ (carrier) ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่สมุนไพร ด้วยการเป็นตัวนำพาสารอาหารไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อ ด้วยคุณสมบัตินี้เอง จึงมักนำน้ำผึ้งไปเป็นส่วนผสมของสมุนไพร/เครื่องเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
*การลดน้ำหนักโดยใช้ซินนามอนร่วมด้วย* : มีข้อควรระวัง คือ ผงซินนามอนที่นำมาใช้ ควรจะเป็นอบเชยหรือซินนามอนจากลังกา (Ceylon cinnamon, True cinnamon) ในขณะที่ร้านค้าโดยทั่วไปมักจะเป็นอบเชยจีน (Chinese Cinnamon) ซึ่งมีราคาถูกและมีสารคูมาริน (coumarin) สูง ถ้าหากรับประทานในปริมาณมาก ๆ หรือเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นอันตรายต่อตับและไต นอกจากนี้ผงซินนามอนที่ขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรามักจะไม่ได้ระบุแหล่งที่มาว่าเป็นอบเชยชนิดใด
ศาสตร์การแพทย์ตามแนวทางอายุรเวท
วิธีการรักษาโรคอ้วน (Obesity) : ให้ใช้น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ (หรือ Kalonji Oil) ½ ช้อนชา กับน้ำผึ้ง 2 ช้อนชา ผสมในน้ำอุ่น ดื่มวันละ 2 ครั้ง
วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้รับประทานมื้อแรกในตอนเช้า หลังจากตื่นนอนก่อนที่จะรับประทานอาหารเช้า ประมาณ ½ - 1 ชั่วโมง และอีกมื้อหนึ่งก่อนนอน ช่วงที่กระเพาะอาหารว่าง ไม่ได้ทานอาหารอะไรก่อนเข้านอน 2 ชั่วโมง จะช่วยเอาชนะโรคอ้วน หรือลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหวาน/มัน อาหารทอด ขนมเค้กหรือเบเกอรี่ต่าง ๆ อีกด้วย และที่สำคัญคือ ถ้ามีการออกกำลังกายแบบแอโรบิกร่วมด้วยจะยิ่งดีเยี่ยมเลยค่ะ ^^
************************
ข้อมูลอ้างอิง :
[1] Datau EA, Wardhana, Surachmanto EE, Pandelaki K, Langi
JA, Fias. Efficacy of Nigella sativa on serum free testosterone and metabolic
disturbances in central obese male. Acta Med Indones 2010;42(3):130-134.
[Medline]
[Medline]
[2] Najmi A, Nasiruddin M, Khan RA, Haque SF. Effect of
Nigella sativa oil on various clinical and biochemical parameters of insulin
resistance syndrome. Int J Diabetes Dev Ctries 2008;28(1):11-14.
[Medline]
[Medline]
[3]
Vanamala J1, Kester AC, Heuberger AL, Reddivari L.; “Mitigation of
obesity-promoted diseases by Nigella sativa and thymoquinone,” Plant Foods Hum
Nutr. 2012 Jun, PMID: 22477645.
[4]
Hasani-Ranjbar S1, Jouyandeh Z, Abdollahi M.; “A systematic review of
anti-obesity medicinal plants – an update,” J Diabetes Metab Disord., 2013 June
19, PMID: 23777875.
[5]
Farzaneh E1, Nia FR2, Mehrtash M2, Mirmoeini FS3, Jalilvand M1.; “The Effects
of 8-week Nigella sativa Supplementation and Aerobic Training on Lipid Profile
and VO2 max in Sedentary Overweight Females,” Int J Prev Med., 2014 February,
PMID: 24627749.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
กรุณากรอกชื่อ หรือนามแฝง หรืออีเมลล์ด้วยค่ะ