วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

การใช้น้ำมันเทียนดำรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คืออะไร??
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เป็นโรคเรื้อรัง ที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายอวัยวะของตัวเอง (autoimmune) โดยส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยในหลายอวัยวะ แต่อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคและเป็นปัญหาทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการตามมา ก็คือ การที่ข้อต่าง ๆ เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะข้อมือและข้อนิ้วมือ


สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค : ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่พบว่าพันธุกรรมก็เป็นสาเหตุหนึ่ง โดยพบว่า 10% ของผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์มีญาติสายตรงที่เป็นโรคนี้เช่นกัน  และยังมีสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อบางชนิดที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส  หรือสาเหตุจากฮอร์โมนก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง  เนื่องจากโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม อาการของโรคที่ปรากฏ คือ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป และผิดปกติ โดยเฉพาะที่ข้อต่าง ๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น และหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ  ซึ่งเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง  จนกระทั่งส่งผลทำให้เนื้อเยื่อปกติถูกทำลายในที่สุด

อาการของโรค : พบว่า ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก 2 ใน 3 มักจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากมีอาการอ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย  เบื่ออาหาร  และตามมาด้วยอาการข้ออักเสบ ที่เป็นลักษณะของ “โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์”  มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะเริ่มต้นด้วยอาการของข้ออักเสบเลย  นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และม้ามโตร่วมด้วย

อาการของข้ออักเสบรูมาตอยด์ คือ มีอาการปวดบวมตามข้อ โดยพบที่ข้อขนาดเล็ก ๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า มากที่สุด  ส่วนที่พบในข้ออื่นๆ ได้แก่ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ  แต่จะไม่พบที่ข้อปลายนิ้วมือ และที่ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว  

ลักษณะอาการเฉพาะของโรค คือ จะมีอาการที่ตำแหน่งข้อเหมือนกัน ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา  อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อใช้งานข้อนั้น ๆ  และเมื่อพักการใช้ข้อนาน ๆ  เช่น หลังตื่นนอนก็จะมีอาการข้อยึดแข็ง ขยับไม่ได้เป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง

สาเหตุที่ข้อบวมและปวด เกิดจากมีน้ำสะสมอยู่ในข้อ  เยื่อบุข้อมีการหนาตัว มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เข้ามาอยู่มากมาย  ทำให้มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจากเซลล์  และสารเคมีบางตัวก็ทำให้เกิดความเจ็บปวด  นอกจากนี้ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่รอบข้อก็มีการอักเสบร่วมด้วย  จนกระทั่งเมื่อการอักเสบดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี ส่งผลให้กระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของข้อถูกทำลาย  กระดูกที่อยู่รอบข้อบางลง  และในที่สุดจะเกิดพังผืดขึ้นมาแทนที่ ดึงรั้งทำให้ข้อเสียรูปร่าง ใช้งานไม่ได้  เนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อที่ทำหน้าที่พยุงข้อไว้ก็จะเสียไป  เส้นเอ็นที่เกาะอยู่ที่ข้อจะถูกทำลาย  และส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ได้ตามปกติ  และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทำอาหาร งานบ้านต่าง ๆ  ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงสำหรับโรคนี้

ยาที่ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ : จะต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกัน ไม่มียาตัวไหนที่จะหยุดยั้งการดำเนินของโรค และทำให้หายได้ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นได้เพียง เพื่อลดและป้องกันการปวดบวมของข้อ ลดการดำเนินของโรคให้ช้าลง และไม่ให้รุนแรงจนข้อเสียหายพิการ

งานวิจัยทางคลินิก ประสิทธิผลของน้ำมันเทียนดำ
ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพศหญิง จำนวน 40 คน โดยช่วงแรกให้ผู้ป่วยได้รับแคปซูลยาหลอก 2 แคปซูลต่อวัน นาน 1 เดือน  ต่อจากนั้นในช่วงหลัง จึงให้รับประทานแคปซูลน้ำมันเทียนดำ (Black cumin Oil)  ขนาด 500 มก.  
วันละ
2 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา
methotrexate,  hydroxychloroquine,  folic acid และ diclophenac sodium

การประเมินผลการรักษา : ใช้การวัดคะแนนความรุนแรงของโรค (disease activity score, DAS-28) การตอบสนองต่อการรักษาร้อยละ 20 ตามเกณฑ์ของ American college of rheumatology (ACR20) และ European league against rheumatism (EULAR)

ผลการประเมิน : พบว่า ช่วงที่ผู้ป่วยได้รับน้ำมันเทียนดำจะมีความรุนแรงของโรค จํานวนข้อที่มีการอักเสบ  และระยะเวลาของข้อฝืดตึงในตอนเช้า (morning stiffness) ลดลง  โดยมี
ผู้ป่วย 17 ราย (42.5%) ตอบสนองต่อการรักษาตามเกณฑ์ ACR20  และผู้ป่วย 12 ราย (30%) ตอบสนองต่อการรักษาตามเกณฑ์ของ EULAR  

สรุปผลการประเมิน : แสดงให้เห็นว่า การให้น้ำมันเทียนดำ (หรือ
น้ำมันฮับบาตุซเซาดะฮ์ /Black Seed Oil) ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน จะช่วยเสริมประสิทธิผลในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในผู้ป่วยได้

Phytother Res 2012;26:1246-8.

ขอบคุณข้อมูล :

1. เรื่องโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ : แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส haamor.com
2. รายงานผลการวิจัยทางคลินิก จากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรุณากรอกชื่อ หรือนามแฝง หรืออีเมลล์ด้วยค่ะ